+662-564-6900 Ext. 72039-40

secretariat.icreate@nstda.or.th

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง วิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 16

เวลา 13.25 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารศูนย์ประชุม อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง วิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 16 (i-CREATe 2023) ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช., สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และกลุ่มความร่วมมือด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแห่งเอเชีย จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “การมุ่งสู่สังคมยั่งยืนสำหรับทุกคน” เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในสังคม รวมถึงกระตุ้นและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เพื่อช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงวัย

โอกาสนี้ ได้พระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุระดับนานาชาติ ประจำปี 2566 ด้านนวัตกรรมการออกแบบ และด้านเทคโนโลยี รวม 6 รางวัล และมีพระราชดำรัสเปิดการประชุม

จากนั้น ทรงฟังศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นวัตกรรมขาเทียม ของมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยในปีนี้ มี 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การนำเสนอผลงานวิชาการ, การประชุมเชิงปฏิบัติการและการอบรม, งานประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ สำหรับนักเรียนนักศึกษา “Global Student Innovation Challenge” เพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ และนิทรรศการด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการและผู้อายุ  มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คนจาก 10 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และไทย

จากนั้น ทรงเปิดนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ จัดแสดงผลงานของผู้ชนะการประกวด และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจ Start-up ได้ อาทิ ระบบจับการเคลื่อนไหวมนุษย์แบบไร้มาร์กเกอร์ ประยุกต์ใช้ได้ทางการแพทย์ ช่วยตรวจวิเคราะห์ เฝ้าระวัง และวางแผนการรักษา, ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้า ประยุกต์ใช้ในการออกแบบอุปกรณ์พยุงส้นเท้าและฝ่าเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน, สเปซ วอล์กเกอร์ (Space Walker) หรืออุปกรณ์ช่วยฝึกเดิน พร้อมระบบพยุงน้ำหนักบางส่วน ช่วยเหลือผู้ป่วยหลังกายภาพบำบัด และส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นผลงานของนักวิจัยไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศจากงาน i-CREATe 2017 ที่ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็นนวัตกรรมไทย สาขาการแพทย์และสุขภาพ, นิทรรศการด้านการพัฒนานวัตกรรมและการจัดให้มีบริการที่ส่งเสริมการเข้าถึง และใช้ประโยชน์ผ่านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ระบบบริการถ่ายทอดการสื่อสาร เพื่อให้คนพิการทางการได้ยินและทางการพูด สื่อสารกับคนทั่วไปผ่านโทรคมนาคมพื้นฐานได้, ระบบบริการคำบรรยายแทนเสียง ช่วยให้คนพิการหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยิน เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ด้วยการอ่านข้อความที่ได้จากการถอดความแทนการฟังเสียง